เคยมั๊ย ที่รู้สึกว่าอยากจะไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเค้าบ้าง ไปสูดอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดบ้าง แต่ว่าก็ขี้เกียจจะไปไหนไกลๆ เพราะมันทั้งเหนื่อย แล้วก็ล้าเกินกว่าจะขยับเขยื้อนเคลื่อนกายไปไหนได้ แต่ว่าต่อมความอยากมันผลักดันให้หาที่ไปจนได้แหละ เลยต้องพยายามเลือกที่ที่มันขับรถไปถึงได้ภายในเวลาแค่ 1 - 2 ชม. เท่านั้น.....ที่ไหนหว่า
|
สถานีรถไฟแม่กลองที่ผ่ากลางตลาด
และเป็นที่มาของชื่อ "ตลาดร่มหุบ" |
หวยเลยไปออกที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ที่ที่ใครๆ ชอบไปกันนั่นแหละ เพราะว่ามันขับรถไปไม่ไกลเลย แต่ว่าคราวนี้เราจะไม่ได้มุ่งหน้าตรงไปตลาดน้ำอัมพวากันก่อนหรอกนะ เพราะว่าอันที่จริงแล้ว จะไปอัมพวาทั้งที เราก็จะไม่ไปแค่ตลาดน้ำ ที่ชาวบ้าน ชาวช่องเค้าไปกันจนปรุไปหมดแล้วล่ะ แต่เราจะไปเริ่มกันที่
“ตลาดแม่กลอง” หรือ
“ตลาดร่มหุบ” กันเป็นที่แรกเลย
ที่นี่น่ะนะ มีของกินเยอะแยะมากมายจาระไนไม่หมดเลยแหละ แต่ว่าส่วนมากร้านเค้าจะเปิดขายกันตั้งแต่เช้าตรู่เลย ดังนั้นพอเริ่มสายๆ ไปจนถึงเที่ยงๆ บางร้านของก็จะเริ่มหมดแล้วล่ะ หรือบางร้านก็ขายดีมาก จนหมดเกลี้ยงไปตั้งแต่ 11 โมงเลยก็มี ดังนั้นถ้าจะให้ดี เราก็ควรจะไปถึงสักตอน 8 โมง – 11 โมง เพราะว่าช่วงเวลานี้ ยังมีของกินอร่อยๆ เหลือให้กินอยู่น่ะสิ
ทางไป
“ตลาดแม่กลอง” ถ้าขับรถมาจากกรุงเทพฯ ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ถนนพระราม 2 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ เดิม) ขับไปเรื่อยๆ จนถึงหลัก กม.ที่ 63 ชิดซ้าย ใช้ทางคู่ขนานต่างระดับ เพื่อเข้าสู่ตัวเมืองสมุทรสงคราม พอถึงสี่แยกแรก ให้ขับตรงไปจนถึงสี่แยกที่สอง (แยกโรงพยาบาล สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า) จากนั้นค่อยเลี้ยวขวา และขับตรงไปอีกสักพักตรงไป ข้ามทางรถไฟ ก็จะถึง
“ตลาดแม่กลอง” หรือ
“ตลาดรถไฟ” ตลาดซึ่งมีทางรถไฟพาดผ่านตรงกลางที่พ่อค้าแม่ค้าวางกระบุงตระกร้าขายของกันเนี่ยแหละค่ะ มันจึงเป็นที่มาของชื่อ
“ตลาดร่มหุบ” เพราะพ่อค้าแม่ค้าต้องคอยหุบร่มกันอยู่เป็นระยะๆ เวลาที่รถไฟผ่านมานั่นเอง (ทำเป็นอธิบายทางคล่องปากไปอย่างนั้นแหละ จริงๆ ตอนไปมีคนขับรถของออฟฟิศเค้าขับพาไปน่ะ ให้ไปเอง ก็คงจะหลงอยู่แถวขอบๆ ของกทม. นี่แหละ)
เริ่มกันที่ร้านแรกเลยมั๊ย !!!!
|
ก๋วยเตี๋ยวเส้นปลา ร้าน "ชุ้นพาณิช" |
“ชุ้นพาณิช” ก๋วยเตี๋ยวเส้นปลาทำเอง ถ้าเข้ามาจากทางหน้าตลาด ร้านจะอยู่ทางขวามือ เลยจากปากทางมาสัก 100 เมตร
ก๋วยเตี๋ยวเส้นปลาของร้าน
“ชุ้นพาณิช” เป็นเส้นปลาที่ทำเอง เส้นจะยาว รสชาติของมันให้อารมณ์เหมือนกิน
“ฮือก้วย” ลูกชิ้นปลาเส้นที่เค้าใส่ในก๋วยเตี๋ยวหมู หรือก๋วยเตี่ยวลูกชิ้นปลานั่นแหละ เพียงแต่
"เส้นปลา" มันจะยาวกว่า และเส้นเล็กๆ บางๆ เหมือนเส้นบะหมี่นั่นเอง นอกจากจะมีเส้นปลาเหนียวนุ่มแล้ว ยังมีเกี๊ยวปลาที่มากับน้ำซุปหอมๆ โรยกระเทียมเจียวอีกด้วยนะ แล้วถ้าใครติดใจ อยากซื้อเกี๊ ยวปลากลับไปกินต่อที่บ้าน เค้ามีขายต่างหากนะ ราคากิโลกรัมละ 120 บาท
(ก๋วยเตี๋ยวเส้นปลา - เกี๊ยวปลาชามละ 25 – 30 บาท)
|
ขาหมูสุดอร่อยของร้าน "เกาเหลากรุงไทย" |
จากนั้นเดินเข้าไปด้านในตลาด เพื่อไปโผล่อีกด้านหนึ่ง แล้วก็เดินข้ามไปฝั่งตรงข้าม เราจะเจอร้าน
“เกาเหลากรุงไทย” เกาเหลาเลือดหมูที่สืบทอดจากรุ่นพ่อแม่มาสู่รุ่นลูก และขายกันอย่างยาวนานมากว่า 28 ปี มันเป็นเกาเหลาเลือดหมูที่มีเครื่องในมาให้เพียบ ทั้งไส้อ่อน ตับ เซี่ยงจี๊ กระเพาะหมู และหมูบะช่อ น้ำซุปหวานๆ เค็มๆ กลมกล่อม กินกับข้าวสวยร้อน แล้วจิ้มไส้อ่อนกับน้ำส้มพริกตำ เอิ๊ก ! อร่อยอย่าบอกใครเลยอ่ะ
อ๊ะ แต่ทีเด็ดของร้าน
“เกาเหลากรุงไทย” นี้ ที่เราเลิฟมากๆ หาใช่เกาเหลาเลือดหมูไม่ แต่มันคือ...
"ข้าวขาหมู" นั่นเอง ขาหมูร้านนี้อร่อยมากจนถึงกับต้องซื้อกลับมาฝากคนที่บ้านกันเลยทีเดียว
เพราะว่าขาหมูของเค้า รสชาติมันจะออกเค็มนำ หวานตาม กลมกล่อมแบบสูตรโบราณ ไม่ได้มีรสชาติหวานเจี๊ยบ อย่างกับขาหมูแช่อิ่ม แบบที่ร้านข้าวขาหมูสมัยนี้ชอบทำขายกันจัง
และสิ่งสำคัญ ที่เราขอยืนยัน ยืนยัน ว่าขาหมูเนี่ยนะ มันต้องกินกับผัดกาดดองเปรี้ยวเท่านั้นนะคะ ถึงจะอร่อย เพราะผักกาดดองรสชาติเปรี้ยวๆ จะไปตัดรสกับขาหมูที่เค็มนำ หวานตามได้อย่างลงตัวที่สุดแล้ว ไม่ใช่เอาขาหมูมากินกับผักคะน้าที่ต้มในน้ำขาหมูจนเป็นรสเดียวกับขาหมู เลยหาจุดตัดของรสชาติไม่เจอ หรืออย่างเลวร้ายมาก คือเอามากินกับผักกาดดองเหมือนกันค่ะ แต่เป็นผักกาดดองรสชาติออกหวานๆ มันอะไรกันคะเนี่ย.....มันไม่ใช่เนื้อคู่กันเลยนะ ของสองสิ่งนี้น่ะ !!!!
ที่สำคัญอีกอย่าง (สำคัญหลายอย่างจริงนะแก) ผักกาดดองที่ดีนั้น ควรจะหั่นซอยให้มันเล็กๆ พอดีๆ ไม่ใช่ชิ้นใหญ่ยืดยาวแบบที่ชอบหั่นกันจัง....เอาล่ะ สรุปว่าร้าน
"เกาเหลากรุงไทย" เป็นร้านที่ประทับใจในความอร่อยจริงๆ ให้ไปเลย 100 ดาว และร้านนี้นี่แหละ เป็นหนึ่งในร้านต้นเหตุที่ทำให้เราอยากย้ายบ้านไปอยู่แถวนั้น จะได้ไปกินมันบ่อยๆ ให้ไขมันอุดตันเส้นเลือดกันไปข้าง
(เกาเหลาเลือดหมูชามละ 20 – 30 บาท, ข้าวขาหมูจานละ 25 บาท, ขาหมูเปล่า 30 – 50 บาท, ยำเครื่องในชามละ 30 – 50 บาท, ก๋วยจั๊บน้ำใสชามละ 30 บาท) ร้านเปิดตั้งแต่ ตี5 ครึ่ง - บ่ายโมง
|
ข้าวขาหมูไขมันน้อยหน้าธนาคารออมสิน |
เออ แต่ถ้าใครชอบกินขาหมูเหมือนกัน แต่ก็แอบกลัวไขมันจะพอกเส้นเลือด กลัวอ้วน กลัวโน่น กลัวนี่ งั้นต้องมาร้านนี้เลย
"ร้านข้าวขาหมูออมสิน" อยู่ตรงปากซอยเพชรสมุทร ตรงข้ามกับธนาคารออมสิน ร้านนี้ขายดีเป็นหนักหนา เลยต้องเปิดตั้งแต่ตี 5 – 11 โมง ซึ่งพอสัก 10 โมงครึ่ง ก็เหลือขาหมูอยู่นิดๆ หน่อยๆ แล้วล่ะ เกือบไปชิมไม่ทันแน่ะ
แล้วขาหมูร้านนี้ กินแล้วไม่ต้องกลัวอ้วนยังไงเหรอ ก็อาปาเจ้าของร้าน แกมีเคล็ดลับน่ะสิ นั่นคือ อาปาจะเลาะเอาไขมันที่ติดอยู่ตามเนื้อและหนังขาหมูออกจนหมดเลย มันก็จะได้เนื้อเพียวๆ และหนังหมูบางๆ ไม่มีไขมันติดอยู่ให้พารานอย นอย นอย จะยังไงก็ตาม เราว่ายังไงมันก็ยังอ้วนอยู่แหละนะ แต่วิธีนี้อย่างน้อยๆ ก็น่าจะช่วยให้คนกินรู้สึกผิดน้อยลง จริงมั๊ย
(ข้าวขาหมูจานละ 25 -30 บาท)
ต่อไปก็......ถึงคิวอีกหนึ่งร้านที่ทำให้เราอยากย้ายสำมะโนครัวมาอยู่สมุทรสงคราม
|
บะหมี่หมูแดง - เกี๊ยวหมูของร้าน "ก๋องเมงจั้น" |
ร้านนั้นคือ ร้าน
บะหมี่เกี๊ยวหมูแดง และข้าวหมูแดงหมูกรอบเจ้าอร่อย (สุดๆ)
“ก๋องเมงจั้น” ร้านดังที่ตั้งอยู่ในโซนถนนเพชรสมุทรเหมือนเดิม ร้านนี้ก็เก่าแก่อีกเช่นกัน เปิดขายมา
กว่า 60 ปี แล้ว เเละสืบทอดกันมานานถึง 3 ชั่วอายุคนแน่ะ
เพราะอย่างนี้นี่เองมั้ง เค้าเลยยังใช้วิธีย่างหมูแดงแบบโบราณอยู่ ไม่ได้เอาไปอบแบบร้านสมัยใหม่ หมูแดงที่ได้ เลยเกรียมนิดๆ ดูมีอะไรๆ มากกว่าแบบที่เอาไปเข้าเตาอบอีกนะ
และทีเด็ด มันอยู่ตรงที่ เค้าเลือกใช้เนื้อหมูติดมันนิดๆ ที่พอเอาไปย่างแล้ว มันหมูที่โดนไฟมันจะเกรียมๆ กรอบๆ แล้วเนื้อหมูก็จะนุ่ม ไม่ใช่หมูแดงแห้งๆ แข็งๆ แบบที่หากินได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ....โอ๊ย เริ่ดดดด
ไอ้หมูแดงเนี่ยนะ เราจะสั่งมากินแบบบะหมี่หมูแดง แห้ง - น้ำ ก็อร่อยล้ำอ่ะ หรือจะสั่งมาแบบข้าวหมูแดง- หมูกรอบ ก็ควรนะ ควรจะสั่งเป็นที่สุด เพราะหมูกรอบเค้าก็กรอบ กร๊อบ กรอบ มันไม่เลี่ยน ไม่แฉะ ไม่ชุ่มน้ำมันเลยสักนิด เลิฟอีกแล้ว >____<
เออ เกี๊ยวเค้าก็มีนะ เนื้อนุ่ม หมูเต็มเกี๊ยวดี ไปแอบดูเค้าเขาห่อเกี๊ยวมาด้วย เค้าจะเอาเกี๊ยวที่ห่อสร็จแล้วและยังไม่ได้เอาไปใช้ เก็บไว้ในลิ้นชักก่อน มันจะได้ไม่โดนลมจนแห้งแข็ง
ร้าน
“ก๋องเมงจั้น” อร่อยมากๆ จริงๆ นะ ทั้งที่มันเป็นแค่ร้านตึกแถวธรรมดาๆ เนี่ยแหละ
(ราคาบะหมี่ – เกี๋ยวชามละ 25 -30 บาท, บะหมี่เกี๋ยวชามละ 30 – 35 บาท, ข้าวหมูแดงจานละ 30 บาท, ข้าวหมูแดง – หมูกรอบจานละ 30 – 35 บาท) ร้านเปิดตั้งแต่ 09.00 - 17.00 น.
|
เกี๊ยวกุ้งเนื้อแน่นร้าน "อร่อยล้ำเส้น" |
อีกเมนูเส้นที่ขอแนะนำว่าต้องไปลองคือ ก๋วยเตี๊ยว – เย็นตาโฟเส้นปลา, เกี๊ยวปลา – เกี๊ยวกุ้ง (ที่ใส่กุ้งเป็นตัวๆ ลงมาให้ด้วย) ที่ร้าน
“อร่อยล้ำเส้น” บนเส้นถนนเกษมสุขุม ทุกอย่างชามละ 25 – 30 บาท น้ำซุปเค้าหอมกรุ่น หวานธรรมชาติดี ไม่ใช่หวานผงชูรส ที่สำคัญคือเกี๋ยวปลาอร่อยมาก ไม่คาวเลยแม้แต่น้อย ร้านนี้สะอาด น่านั่ง ดูโมเดิร์นขึ้นมาหน่อย ที่สำคัญกว่าอะไรทั้งสิ้นคือ ลูกชายเจ้าของร้าน น่ารักมาก ถ้าโชคดีไปเจอน้องเค้า ก็ขอให้แอบชำเลืองมองหน่อยนะ (ไปถึงแล้ว จะรู้ได้เองล่ะ ว่าคนไหน เพราะฮีหล่อเด้งสไตล์เกาหลีมากๆ)
ร้านสุดท้ายในตลาดแม่กลองที่เราจะแวะกันคือ
“เม้งข้าวหมูแดง” ที่มาแปลกด้วยการเสิร์ฟข้าวหมูแดง ข้าวหน้าเป็ด และข้าวหน้าไก่ย่าง พร้อมๆ กับน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวพริกตำแบบเดียวกับที่กินกับข้าวมันไก่อ่ะ มันช่างดูไม่น่าจะเข้ากันได้เลยเนอะ แต่มันก็เข้ากันได้แฮะ แถมยังเอาผักบุ้งลวกที่เอาไว้กินกับข้าวหน้าเป็ด มาแนมให้กินกับข้าวหมูแดงอีกด้วยแน่ะ อะไรจะข้ามสายพันธุ์กันได้ปานนั้น
|
ข้าวหน้าเป็ดร้าน "เม้งข้าวหมูแดง" |
แต่สิ่งที่ยืนยันว่าร้านนี้อร่อยเด็ดจริงๆ ก็คือลูกค้าที่ยืนรอเมนูที่ตัวเองสั่งอยู่ด้านหน้าร้าน รวมทั้งลูกค้าที่นั่งกินอยู่ในร้านก็ไม่เคยพร่องลงเลย อาปาเจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า แกสืบทอดกิจการมาจากเตี่ย ที่พายเรือขายข้าวหมูแดงมากว่า 60 ปี และยังคงไว้ซึ่งเคล็ดวิชาที่เตี่ยถ่ายทอดมา นั่นคือจะใช้เตาถ่านเคี่ยวน้ำจิ้มไปอย่างใจเย็นจนได้น้ำจิ้มรสเด็ดที่ลูกค้าติดใจนั่นแหละ ร้านเปิดตั้งแต่ 06.00 – 15.00 น. (แต่เจ้าของร้านต้องตื่นขึ้นมาเตรียมของตั้งแต่ตี 3 แน่ะ เพื่อมาเคี่ยวน้ำจิ้มมั้งนะ) ทุกอย่างราคา 25 - 30 บาท
แล้วเราก็จะจบทริปของคาวในตลาดแม่กลอง กันด้วยของหวานที่ไม่ค่อยมีให้เห็นกัน
“ทองม้วนกะทิสด” ที่ทำขายกันสดๆ เอาเตามาวางทำขนมโชว์กันเลยทีเดียว วิธีการทำดูคล้ายๆ การทำข้าวเกรียบปากหม้อนะ คือเอาแป้งที่ผสมกะทิและข้าวโพด หรืองา มาหยอดลงไปบนแผ่นเหล็กร้อนๆ อังไฟไว้สักพัก แล้วก็แซะออก ทองม้วนที่ได้จะนิ่มๆ ไม่แข็ง แบบทองม้วนที่เราคุ้นเคยกันนะ ราคาก็ไม่แพง ถ้าเดินผ่านไปเห็น ก็ลองซื้อมากินกันดู แต่เราไม่ได้กิน เพราะต้องรีบเดินไปที่อื่นต่อ
เอาล่ะไฮไลท์สำคัญของเรามาถึงแล้ว มันอยู่ที่เส้นทางขากลับกรุงเทพฯ นี่เองล่ะ
เพราะเราจะแวะร้านอาหารทะเลขึ้นชื่อลือชา ใครมาต้องแวะ มันคือร้าน
"ชาวเล" นั่นเอง
|
ท่าน้ำของร้าน "ชาวเล" |
ร้าน
"ชาวเล" ตั้งอยู่ริมคลอง
“ผีหลอก” บรรยากาศชิลล์มาก นั่งๆ ไปจะมีเรือเล่นผ่านให้ดูเล่นด้วยล่ะนะ ซึ่งทางร้านเอง เค้าก็มีเรือ และมีท่าน้ำไว้ให้เอาเรือลงได้ด้วย สนใจก็ลองถามๆ เค้าดู และที่หน้าร้านเค้าจะมีบอกเวลาน้ำขึ้นน้ำลงเอาไว้ด้วย คงเพื่อการเอาเรือลงนี่ล่ะมั้ง ลืมถามเหตุผล
เมนูที่มาแล้วต้องสั่งให้ได้ ย้ำ ต้องสั่งให้ได้ คือ
“กุ้งแม่น้ำเผา” เพราะเรารับประกันความสดของกุ้งเลยแหละ ไม่เคยกินกุ้งที่ไหน จะกุ้งแม่น้ำ หรือกุ้งเลี้ยง กุ้งทะเลอะไรก็ตาม ที่พอเอาเข้าปากแล้วเนื้อกุ้งมันจะเด้งดึ๋งๆ ได้ขนาดนี้ แถมมันกุ้งยังเยิ้มเป็นสีส้มๆ แดงๆ เห็นแล้วน้ำลายไหล พอเอามาจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู๊ดรสแซ่บ คลุกกับข้าวสวยร้อนๆ แล้วก็นะ สวรรค์จริงๆ!
ยังมีเมนูที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอยู่อีกด้วยนะ นั่นคือ
“หอยหลอดผัดฉ่า” หอยหลอดตัวยาวเหนียวหนึบ เอามาผัดกับเครื่องเทศ และเครื่องแกงรสเผ็ดร้อน ใครที่ไม่กินรสจัดคงต้องบอกให้เขาเพลาๆ พริกลงหน่อยนะ เพราะที่นี่กระหน่ำพริกลงไปเยอะใช้ได้เลยทีเดียว
ตามมาด้วย
"ปลากะพงทอดกระเทียม" จัดมาติดๆ อย่าให้ขาดช่วง เค้าทอดปลามากรอบถึงใจจริงๆ แถมปลามันยังตัวใหญ่เนื้อหนา กินกับน้ำจิ้มซีฟู๊ดอีกแล้ว แต่ก็ยังเริ่ดนะ
|
กุ้งแม่น้ำเผา |
|
ปลาทูต้มมะดัน |
ต่อไปก็สั่งอะไรมาซดคล่องๆ คอหน่อยดีกว่า ต้องลอง
“ปลาทูต้มมะดัน” เมนูโบราณที่เราเคยได้ยินแต่ชื่อนะ ยังไม่มีโอกาสได้กินจริงๆ จังๆ ซะที คราวนี้ได้กินสมใจ น้ำแกงมันเปรี้ยวๆ หวานๆ เค็มๆ ซดร้อนๆ คล่องคอดี และด้วยความที่น้ำแกงมันรสไม่จัดมาก ออกไปทางนุ่มๆ นวลๆ ซะมาก ก็เลยซดน้ำกินเปล่าๆ
|
น้ำพริกปู |
ผักสดจิ้มน้ำพริกก็มีนะ
“น้ำพริกปู” ที่เค้าเอาเนื้อปูมาตำกับพริก และเครื่องทั้งหลาย จนได้น้ำพริกมาหนึ่งถ้วย แต่น้ำพริกถ้วยนี้รสจัดมาก ขนาดกินแกล้มกับผัดสดนานาชนิดแล้ว ยังไม่สามารถดับความเผ็ดลงได้เลย ทางที่ดีระบุจำนวนพริกไปให้เค้าด้วยเลยนะตอนที่สั่ง
ปิดท้ายกันที่
“ทอดมันปลากราย” อันบะเร่อ เค้านวดเนื้อปลากรายมาได้เหนียวหนึบหนับดีนะ โรยใบกะเพราทอดกรอบมาด้วย เสียดาย เราเป็นคนที่ไม่ชอบกินทอดมันเท่าไหร่ เลยไม่ค่อยจะอะไรมากนักกับจานนี้
แต่ว่าคอนเฟิร์มเลยนะ ว่าถ้าใครมาสมุทรสงคราม สมควรจะแวะมากินอาหารทะเลที่ร้าน
“ชาวเล” เพราะว่าของเค้าสดจริงๆ สดกว่าไอ้ร้านดังที่ว่าเริดๆ แถวเพชรบุรีอีกน่ะ (ร้านนั้นตอนที่ไปกิน เอาไข่แดงของไข่เค็มมาใส่กระดองปู ทำเป็นไข่ปูเฉยเลย)
|
แผนที่ร้าน "ชาวเล" |
ส่วนเส้นทางก็ให้ขับรถไปตามทางหลวง 325 มุ่งหน้าไปทาง อ.ดำเนินสะดวก ตรงไปเรื่อยๆ แล้วตรงเข้ไปในาซอยบ้านปรก 40 ไม่ต้องกลัวหลงเพราะจะมีป้ายชื่อร้าน
“ชาวเล” และป้ายของ
“กนกรัตน์ รีสอร์ต” ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกันกับร้าน ติดให้เห็นโดดเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าปากซอยเลยแหละ ถ้างงๆ ทาง ลองถามคนแถวนั้นดู เค้าน่าจะตอบได้ เพราะร้านขึ้นชื่อจริงๆ
เฮ้อ เขียนเสร็จ ก็อยากไปอีกรอบน่ะ คราวนี้จะตั้งอก ตั้งใจกินให้มากกว่าเดิม
อ่านรีวิว
ตระเวนกินถิ่นอัมพวา ที่เว็บของเราได้